วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (จบ)

ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o เพื่อนครูคือส่วนสำคัญที่จะร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียน  ด้วยความเป็นพี่เป็นน้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ  และผู้บริหารจะต้องเข้าไปมีบทบาทโดยการใช้กระบวนการจัดการความรู้เข้าไป สร้างบรรยากาศมันไม่ใช่ง่ายแต่ก็ต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ ครูเก่าต้องมีอะไรเก่ง  เช่นเดียวกันครูใหม่ก็มีอะไรที่เก่งไม่แพ้กัน หากแต่อาจจะเป็นคนละด้านคนละอย่าง ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้ความเก่งเหล่านั้นมากองรวมกัน  เรื่องอย่างนี้เราจะทำแบบนี้แก้ปัญหาแบบนี้ เกิดผลออกมาก็มาดูกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดผู้นำขึ้นมา แต่ไม่ใช่ผู้นำในเชิงการบริหาร หากโรงเรียนไหนมีภาวะผู้นำเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนนั้นไปไม่รอดแน่นอน  ฉะนั้นจะต้องไปสร้างเสริมพลังอำนาจเพื่อให้เกิดภาวะผู้นำขึ้นภายในโรงเรียนให้มากๆ คนนี้เป็นผู้นำในเรื่องนี้  คนนี้เป็นผู้นำในเรื่องนั้นๆ การที่จะพัฒนาคนโดยการไปเชิญคนข้างนอกมานั้นเอาไว้ก่อน หรือคนที่มีแววก็ส่งไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมแล้วเอามาเล่าให้เพื่อนครูคนอื่นๆ ฟัง  สามารถถ่ายทอดต่อกันได้และนำไปปฏิบัติได้จริงในโรงเรียน
o วิธีการเสริมสร้างพลังอำนาจนี้จะช่วยเสริมคนเก่งให้เก่งยิ่งขึ้น ช่วยคนที่ด้อยให้เก่งขึ้นมา คนเรามีสิ่งที่เรียนรู้มาแล้วจากประสบการณ์ชีวิต ต้องจับให้ได้ว่าเขาเด่นในเรื่องอะไร ผู้บริหารต้องจัดเวทีให้ ต้องทำหน้าที่ควบคุมและกระตุ้นให้ครูทำงานได้อย่างราบรื่น
o ภาวะผู้นำของผู้บริหารสำคัญมากในการที่จะ Empower คน  โดย 1. จะต้องเชื่อว่าครูทุกคนมีความรู้ และความรู้ของแต่ละคนนี้แตกต่างกัน ต่อมา 2. คือ ผู้บริหารจะต้องทำตัวให้เป็นตัวแบบให้ได้ 3.ผู้บริหารต้องสามารถรวมความคิดของคนในองค์กรให้ได้  หรือเรียกง่ายๆ ว่าผู้บริหารจะต้องมีธรรมาภิบาลในการบริหาร 
o บทบาทของผู้บริหารในการเสริมสร้างพลังอำนาจแก่ครูนั้นไม่ใช่เพียงแค่การส่งผ่านอย่างเดียว หากได้รับคำสั่งหรือโครงการอะไรมาแล้วก็จะต้องกรองก่อนว่า  งานนั้นๆ เหมาะสมกับครูคนใด  ฝ่ายใด  ต้องพูดและแสดงออกในเชิงการให้กำลังใจแก่ครู
o ในส่วนของครูเองนั้น หากว่าต้องตกอยู่ในภาวะที่ผู้บริหารนั้นไม่ใช่คนที่มีภาวะผู้นำทางการบริหาร คือ ไม่ได้มีหลักในการกระจายอำนาจหรือเสริมสร้างพลังอำนาจแก่ครูในโรงเรียน ครูสามารถที่จะรวมตัวกันเพื่อบริหารจัดการตนเองได้ในทำนองเดียวกับการสอนเจ้านาย ในลักษณะของคลื่นใต้น้ำที่จะส่งแรงกระเพิ่มไปสู่ข้างบนหรือในวงกว้าง เช่น กรณีของหมอในโรงพยาบาลซึ่งมักจะอ่านตัวหนังสือของหัวหน้างานในเอกสารไม่ออก วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสมารวมตัวกันจึงได้นำเอาเอกสารที่เคยประสบปัญหาดังกล่าวซึ่งได้ถ่ายเอกสารไว้มาถามในที่ประชุมว่าอันนี้เป็นตัวหนังสือหรือลายเซ็นของใครอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งหัวหน้างานก็จะได้รับการบอกกล่าวตักเตือนไปในเวลาเดียวกันโดยไม่รู้สึกว่าตนเองเสียหน้า  หากแต่จะต้องระมัดระวังในเรื่องการเซ็นเอกสารในโอกาสต่อๆ ไปนั่นเอง  ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า  ครูนั้นจะต้องมีความสามัคคีกัน  เพราะการที่จะเปลี่ยนแปลงจากผู้บริหารลงมาข้างล่างนั้นจะง่ายกว่าการเปลี่ยนแปลงแบบล่างขึ้นบน  แต่มันมีวิธีทำได้  สิ่งสำคัญก็คือต้องให้เกียรติผู้บริหารในฐานะหัวหน้างาน โดยต้องรวมกลุ่มกันแล้วพยายามเป็นกระจกสะท้อนให้กับผู้บริหาร พยายามจับจุดเพื่อมองหาจุดเด่น จุดดีของผู้บริหารให้ได้  แล้วหาโอกาส  หากิจกรรมหรือโครงการเพื่อให้ผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ เราต้องเข้าใจว่าโรงเรียนที่เราอยู่นี้มีผู้บริหารเป็นผู้บังคับบัญชา ในทางกลับกันวิธีการเหล่านี้ถือเป็นการเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ผู้บริหารได้เช่นเดียวกัน
-----------------------------------------------------

* ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ : กรรมการสภาการศึกษา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
***บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  11  ธันวาคม  2553
ณ  มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  ปทุมธานี
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com