วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (3)

ดร.ดิเรก  พรสีมา*
อภิชาติ  ทองน้อย**

oโรงเรียนฝึกสอนของบ้านเขากับโรงเรียนฝึกสอนของบ้านเรานั้นไม่เหมือนกัน โรงเรียนฝึกสอนของเขาต้องมีกฎหมายรับรองว่า  มหาวิทยาลัยนี้จะใช้โรงเรียนใดสำหรับเป็นที่ฝึกสอนของนักเรียนครูต้องมีกำหนดไว้และมีกฎหมายรับรอง ทำไมต้องมีกฎหมายรับรองก็เพราะว่าพอเลือกโรงเรียนต่างๆ เหล่านี้เป็นสถานที่สำหรับฝึกสอนแล้วคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ จะต้องเอาครูในโรงเรียนเหล่านี้มาอบรมจนครูทุกคนสามารถเป็น  Master teacher  คือทุกคนจริงๆ จะต้องสามารถทำหน้าที่นี้ได้  โดยเขาจะตามไปนิเทศไปอะไรตรงนี้จนมั่นใจแล้วว่าทุกคนเจ๋งหมดเลย  เขาถึงได้เตรียมเด็กไปฝึกสอนตรงนี้  แต่บ้านเราพาไปฝึกสอนตอนปี 5 ของเขานี่พาไปตั้งแต่เริ่มเรียน ปี 2
o ก่อนจะไปสังเกตการสอนเขาจะเอาแผนการสอนของครูที่เป็น Master teacher  หรือครูต้นแบบมาถ่ายเอกสารแจกกัน เช่น กลุ่มนี้จะไปสังเกตการสอนของครูคณิตศาสตร์ ม.4 ด้วยกันที่โรงเรียนที่ 1  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะไปสังเกตการเรียนการสอนที่โรงเรียนที่  2  ก็จะทำคล้ายๆ กัน  เอาแผนการสอนมาดูกัน  โดยนักเรียนครูทุกคนจะนั่งดูแผนการสอน  จะเห็นขั้นตอนว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  การนำเข้าสู่บทเรียนยังไง  การใช้สื่อใช้อะไรยังไง  แล้วอาจารย์ก็จะชี้ให้ดูว่า  นี่เขาใช้ทฤษฎีของคนนี้  ใช้หลักการของคนนั้น  อธิบายให้ฟัง  ไม่เน้นสอนทฤษฎีบนกระดานแต่มาโยงกับแผนการสอนให้เห็นเป็นรูปธรรม  พอออกจากเรียนทฤษฎีก็มาเข้าห้องมาฉายวีซีดีดูในแต่ละกลุ่มซึ่งได้ไปสังเกตการณ์การสอนของครูต้นแบบในโรงเรียนที่กำหนดไว้  แล้วบันทึกวีดีโอไว้เพื่อนำมาสนทนากลุ่มย่อยกัน  ว่าครูต้นแบบคนนั้นๆ ได้สอนตามบันทึกหรือไม่  สังเกตดูพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคน  แต่ละกลุ่มว่ามีพฤติกรรมอย่างไร  แล้วครูต้นแบบคนนั้นใช้วิธีใดในการแก้ไขปัญหา  จากนั้นย้อนถามนักเรียนครูว่าถ้าเป็นพวกเธอจะทำอย่างไรเช่น ตอนที่เด็กคนนี้ตอบคำถามไม่ถูกครูคนนั้นชมเขาหรือไม่  แล้วครูคนดังกล่าวใช้หลักการสอนของใครหรือใช้ทฤษฎีของใคร  ที่ครูเขาถามคนนั้นถามคนนี้เขาถามกระจายหรือไม่  หรือว่าถามเฉพาะคนเก่งๆ อยู่ไม่กี่คนที่นั่งอยู่แถวหน้า  เน้นการเอาทฤษฎีมาถามในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงภายในห้องเรียนดังกล่าวว่า  ถ้าพวกเธอเป็นครูต้นแบบคนนั้นเธอจะทำอย่างไร  ซักถามกันไปเรื่อยๆ แล้วมาสรุปในแต่ละวันว่า  มีประเด็นใดในการเรียนการสอนที่ต้องทำการปรับเปลี่ยน  เน้นการเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาพูดโยงเข้ากับทฤษฎีต่างๆ ฉะนั้นนักเรียนครูแต่ละคนก็จะเก่ง  เพราะจากการสังเกตการเรียนการสอนในช่วง 3-4 ปีของเขาเหล่านั้นในห้องเรียนในแต่ละที่มีอะไรบ้าง สามารถแยกแยะสภาพปัญหาระหว่างห้องเรียนของเด็กประถมว่ามีอะไร  ห้องเรียนของเด็กมัธยมว่ามีอะไร  แล้วครูที่เป็นครูต้นแบบเขาแก้ปัญหาอย่างไร แก้ถูกหลักการหรือไม่ แก้ถูกทฤษฎีหรือไม่ ซึ่งหลังจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้ว  อาจารย์ผู้สอนของนักเรียนครูก็จะบอกว่าประเด็นปัญหานี้ควรจะแก้ด้วยสิ่งใดหรือวิธีการใด  แต่เป็นไปในแนวทางการให้ข้อเสนอแนะเท่านั้นไม่ใช่ให้จดจำวิธีการเพื่อไปลอกเลียนแบบ  เพราะแนวการสอนของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน  วิธีดังกล่าวทำให้นักเรียนครูมีทางเลือกว่าจะใช้แนวทางการสอนอย่างไรจึงจะเหมาะกับตัวเอง  เหมาะกับความถนัดตามแนวทางการสอนของแต่ละคน ซึ่งกว่าจะจบการศึกษาออกไปเป็นครูนั้นจะต้องผ่านกรณีศึกษาของครูต้นแบบมากกว่า 100 คน  ฉะนั้นเขาจะทำให้ครูแต่ละคนเก่ง 
o พอครูเก่งแล้วเวลาไปทำงานในโรงเรียน  ทุกประเทศที่ครูเก่งๆ เขาจะเอาครูที่สอนวิชาเดียวกันมาประชุมร่วมกัน  เช่น  ประเทศฟินแลนด์  ญี่ปุ่น  สิงคโปร์  ทุกๆ 2 สัปดาห์ครูที่สอนคณิตศาสตร์ ม.2 ในเขตพื้นที่เดียวกัน (อำเภอ  หรือเมืองเดียวกัน)  มาที่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งภายในเขตพื้นที่นั้นๆ เพื่อมาทำแผนการสอนสำหรับสอนสัปดาห์หน้า ครูที่ทำการสอนคณิตศาสตร์ชั้น ม.2 ทั้งหมดมานั่งปรึกษาหารือกัน  สนทนากลุ่มกันว่าจะสอนในเนื้อหาที่กำลังจะมาถึงในสัปดาห์หน้าอย่างไรเพื่อนำไปใช้ในระยะเวลา  2 สัปดาห์  โดยร่วมกันกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ทั้งตำราเรียนควรเป็นเล่มไหน สื่อการสอนควรเป็นชนิดใด  กำหนดไว้หมด  โจทย์คำถามเรื่องละ 10 ข้อ  ใช้แบบทดสอบอย่างนั้นอย่างนี้ หากว่าสื่อการสอนประเภทใดยังไม่มีใช้ในโรงเรียนก็ช่วยกันทำช่วยกันผลิตขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ เช่นเดียวกันการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ม.3 ควรไปประชุมร่วมกันที่โรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้  โดยเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพเวียนไปเรื่อยๆ ในกลุ่มโรงเรียนของตน  วิธีการนี้จะทำให้ครูรู้สึกว่าตนเองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง  หากแต่มีเพื่อนๆ ครูที่สอนวิชาเดียวกันอยู่ภายในเขตพื้นที่เดียวกัน และประสบปัญหาในการสอนในลักษณะเดียวกัน ทำให้รู้สึกว่ามีความเชี่ยวชาญในสายงานการ สอน  มีทักษะวิชาชีพเพิ่มขึ้นในสายงานครู  และเกิดความมั่นใจในตนเองที่จะทำการสอนให้เหมาะสมกับสภาพจริงของผู้เรียน


-----------------------------------------------------

* ดร.ดิเรก  พรสีมา : ประธานคณะกรรมการคุรุสภา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  27  พฤศจิกายน  2553
ณ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  จังหวัดปทุมธานี

      สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com




วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (2)


ดิเรก  พรสีมา*
อภิชาติ  ทองน้อย**
o ครูเองต้องสร้างความเข้าใจ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของครู ไม่ว่าจะเป็น พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พรบ.กคศ.  พบร.ระเบียบบริหารราชการกระทรวง  หรือพรบ.คุรุสภา  หรือพวกประกาศกระทรวง  กฎกระทรวง  และข้อบังคับของกคศ.ก็ตาม  รวมถึงหนังสือเวียนของกคศ. หนังสือเวียนของสพฐ.  ว่ามาตรฐานการศึกษาเขาเขียนไว้นั้นตัวเองรู้หรือไม่  เพราะบางคนอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ  ไม่เข้าใจก็เลยคิดว่าเขาบังคับเราให้ทำ  แต่ที่จริงเขาเขียนไว้กว้างมาก  มาตรฐานที่กระทรวงกำหนดนั้นเราประกาศไปตลอด  เราบอกไปตลอดว่า  มาตรฐานขั้นต่ำเป็นเท่าไหร่  นี่ประกาศมา 14 ตัว  18  ตัว หรือต่อไปจะ 12 ตัวอะไรก็แล้วแต่  สิ่งเหล่านี้คือมาตรฐานขั้นต่ำ  โรงเรียนจะต่ำกว่านี้ไม่ได้  เพราะถ้าโรงเรียนจะทำสูงกว่านี้กระทรวงก็จะมีแต่อนุโมทนาสาธุ  แต่สิ่งเหล่านี้บางครูก็นึกว่า  กระทรวงผูกมัดมา  บีบรัดมาให้เราทำแค่นี้  หากเราอยากทำอย่างอื่นก็ทำไม่ได้  อันนี้คือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง  ก็เลยเป็นข้ออ้างที่ทำไม่กล้าคิดต่อเพราะตัวเองไม่ได้รู้ความจริงว่าคืออะไรกันแน่
o ในด้านความรู้ความสามารถของครูเราโดยทั่วไปแล้วหากนำไปเทียบกับครูลาว  ครูพม่า หรือครูเขมรจะพบว่า  ความสามารถในเนื้อหาวิชาดีกว่า  ความรู้ความเข้าใจความสามารถในการถ่ายทอดก็ดีกว่า  แต่ถ้าไปเทียบกับมาเลเซียหรือสิงคโปร์จะพบว่าเป็นคนละเรื่องกัน  เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่นำไปเทียบกับใครเราก็ไม่รู้  แต่ไปเทียบทั้งด้านความรู้ในเนื้อหาสาระ  ความรู้ภาษาอังกฤษ  ความรู้คณิตศาสตร์  ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์  รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดของเราด้อย  ถ้าเทียบกับกันเองอาจจะไม่เข้าใจ  แต่ถ้าไปเทียบกับครูสิงคโปร์จะพบว่า  เด็กของสิงคโปร์จะไม่ถูกตำหนิว่าโง่  เพราะเด็กก็เหมือนกับคนไข้  หมอก็มีหน้าที่รักษาให้เต็มที่  ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงก็ต้องรักษา  แต่นักเรียนที่เข้ามานั่งเรียนอยู่ในห้อง 40 -50 คน ถ้าคนไหนมันเกเร เรียนช้า ครูก็จะทิ้ง ละเลย ถูกทอดทิ้ง  ครูจะดูแลแต่คนที่ตั้งใจเรียนเท่านั้น  กลุ่มปานกลางขึ้นไปเท่านั้นที่ดูแล  แต่พวกกลุ่มข้างล่างหรือปานกลางลงมานี่  ครูสิงคโปร์จะไม่เป็นอย่างนั้น  เขาจะดูแลแต่ละบุคคลให้เก่ง  ครูทุกคนของสิงคโปร์จึงมีโปรแกรมสอนซ่อมเสริมเป็นเรื่องปกติที่ทำเป็นประจำ  แต่ของบ้านเราสอนแต่คนที่เก่งแล้ว  มีการติวพิเศษ  สอนพิเศษให้กับคนที่เก่งแล้วให้เก่งมากยิ่งขึ้นไปอีก  แต่คนที่สอบตกเรียนไม่ดีนั้นจะถูกละเลย  ทอดทิ้ง  หากเป็นสิงคโปร์ในระดับ ป.4 ป.5 ครูทุกคนจะมีข้อมูลว่า  เด็กชาย x เด็กชาย y หรือกระทั่งเด็กชาย z เด็กพวกนี้อ่อนอะไร เช่น อ่อนคณิตศาสตร์  อ่อนภาษาพอขึ้น ป.4 ป.5 พอสอนไปสัก 1-2 สัปดาห์ครูประจำชั้นหรือครูประจำวิชาจะรู้แล้วว่าอาทิตย์นี้มันจะช้านะ  ถ้าจะรอไปเป็นเดือนแล้วค่อยมาแก้ก็จะไม่ทันการณ์กันพอดี  พอสัปดาห์ที่  3  เอาเด็กอ่อนพวกนี้มาเรียนเลย  เพื่อจะให้ตามคนอื่นได้ทัน
o ประเทศฟินแลนด์  ถ้าเด็กคนไหนเรียนอ่อนจะให้ไปนั่งเรียนกับครูที่เก่งที่สุดของโรงเรียน   คือ เขาจะมีครูพิเศษ  (Special teacher)  ไว้คนหนึ่ง  ถ้าคนไหนเรียนช้าเรียนไม่ทันเขาจะต้องส่งไปหาอาจารย์อุ๊  อาจารย์ประกิตเผ่าในโรงเรียนนั้นๆ สมมติง่ายๆ ให้เข้าใจอย่างนี้  ซึ่งอาจารย์อุ๊ที่ว่านี้จะไม่ได้สอนประจำชั้น  คนไหนที่เรียนไม่รู้ไม่เข้าใจให้ไปหาอาจารย์อุ๊เลย คนไหนเรียนฟิสิกส์ไม่เข้าใจส่งไป  เขาจะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญคอยชี้แนะให้คำปรึกษาหารือ  ติววิชาเหล่านั้นที่เรียนอ่อนให้เข้าใจ  ในแต่ละโรงเรียนจะมีครูประเภทนี้อยู่เพื่อช่วยให้นักเรียนที่มีปัญหาเรียนให้ทันเพื่อน  พอเห็นว่าคนไหนเริ่มจะมีปัญหาเขาจะเอามาเรียน  แต่ประเทศไทยไม่เป็นอย่างนั้น  ครูไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น  ไม่มีความเก่งในการรีเชคนักเรียน  หาจุดอ่อนของนักเรียน  ครูเรายังไม่พอ  ซึ่งสิ่งนี้ถ้าจะทำให้เขามีพลังอำนาจเราก็จะต้องให้ความรู้  ให้การศึกษา  ให้สมรรถนะแก่พวกเขา 
o การให้อำนาจในบ้านเราระดับประถมอาจจะยังไม่ชัด  แต่ครูในระดับมัธยมปลายนี่จะเห็นชัดเลย  ครูมากกว่า  80  เปอร์เซ็นต์สอบไม่ผ่านวิชาฟิสิกส์  ฉะนั้นถ้าตัวเองรู้ว่ามีความรู้และสอบได้ไม่ถึง  80  เปอร์เซ็นต์แล้วจะมาสอนเด็กให้เก่งได้อย่างไร ทั้งที่จริงแล้วมันจะต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม 
o ความรู้ของครูในเนื้อหาวิชาจะต้องแม่น  แม้แต่ครูประถมวัย  หรือครูประถมซึ่งทุกคนจะต้องสอนทุกวิชาทั้งภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  วิทยาศาสตร์ ครูประถมพอไปสอนภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ตัวเองก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้  พูดก็ไม่ค่อยรู้  สอนก็ไม่ได้  ครูประถมมันต้องสอนหลายวิชา  ต้องสอนประจำชั้น  หลักสูตรทั้งหลายที่เราสอนนี่มันเรียนแยก  ไม่ได้เรียนเพื่อไปทำงาน ถ้าจะไปสอนประถมคุณต้องสามารถสอนได้ทุกวิชาทั้ง 8 กลุ่มสาระ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นจุดอ่อนของหลักสูตรของเรา เราต้องทำให้ครูมีความรู้ทั้งในเนื้อหาวิชา  ความรู้ในเรื่องการถ่ายทอด แล้วก็ต้องรู้ในเรื่องแหล่งเรียนรู้ รู้แหล่งอุปกรณ์ รู้แหล่งสื่อ สอนวิชาภาษาอังกฤษ ป.4 นี่มันมีอะไรบ้าง สื่ออิเล็กทรอนิกส์มีอะไรบ้าง สื่อตำรามีอะไรบ้าง สื่อที่เป็นแผ่นใสมีอะไรบ้าง สื่อที่เป็นเกมส์มีอะไรบ้าง  สื่อที่เป็นแหล่งเรียนรู้มีอะไรบ้างครูจะต้องรู้  และจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละเรื่องนั้นจะจัดอย่างไร  อันนี้คือสิ่งที่เราขาดไป  ขาดตั้งแต่ตอนผลิตครู  กระบวนการเรียนการสอนนักเรียนครู  มันผิดมาจากตรงโน้น 


-----------------------------------------------------

* ดร.ดิเรก  พรสีมา : ประธานคณะกรรมการคุรุสภา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  27  พฤศจิกายน  2553
ณ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  จังหวัดปทุมธานี

      สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การสร้างและพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนชุมชนบ้านพงสตา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 2

เบญจวรรณ  จินดารัตน์*
อภิชาติ  ทองน้อย**
บทคัดย่อ
     การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์  ดังนี้
     1. เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนของนักเรียนที่มีข้อบกพร่องด้านการอ่านและการเขียน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษาปีที่  1  โรงเรียนชุมชนบ้านพงสตา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี  เขต 2  โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน 
     2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ในการอ่านและเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1โรงเรียนชุมชนบ้านพงสตา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี  เขต 2 ก่อนใช้และหลังใช้
     3. เพื่อศึกษาระดับเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ  การอ่านและการเขียน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษาปีที่  1
     กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา  คือ  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  1  ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา  2552  โรงเรียนชุมชนบ้านพงสตา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี  เขต 2  จำนวน  27  คน 
     เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา  ประกอบด้วย  แผนการจัดการเรียนรู้  จำนวน  9  แผน  ใช้เวลา  18  ชั่วโมง  แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน 
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่  1 จำนวน  9  เรื่อง 
แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของแบบฝึกเสริมทักษะ  การอ่านและ
การเขียนแต่ละเรื่อง  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน
และหลังเรียน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษาปีที่  1  จำนวน 
30  ข้อ  และแบบสอบถามเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้
แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนชั้นประถมศึกษาปีที่  1  จำนวน 
12  ข้อ
     สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล  ได้แก่  ค่าเฉลี่ยเลขคณิต  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ค่าร้อยละ  ค่าดัชนีความสอดคล้อง  ค่าความยากง่าย  ค่าอำนาจจำแนก  ค่าประสิทธิภาพ  ค่าความเชื่อมั่น  และการทดสอบค่าที (t-test)

     ผลการศึกษา  พบว่า
     1. ความสามารถในการอ่านและการเขียนของนักเรียนที่มีข้อบกพร่อง
ด้านการอ่านและการเขียน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษาปีที่  1 โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน  โรงเรียนชุมชนบ้านพงสตา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี  เขต 2 หลังเรียนสูงกว่า
ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
     2. แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย 
ชั้นประถมศึกษาปีที่  1  ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ
80.08 / 84.57 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้  (E1/E2 = 80/80) 
     3.  ระดับเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึก
เสริมทักษะการอ่านและการเขียน  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 1  โรงเรียนชุมชนบ้านพงสตา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต  2   เฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  4.72 
ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ  0.41  และความเชื่อมั่นของแบบวัดเจตคติของ
นักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่าน
และการเขียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยที่สร้างขึ้นมีค่าเท่ากับ  0.78

*เบญจวรรณ  จินดารัตน์ : ครูชำนาญการ  โรงเรียนชุมชนบ้านพงสตา 
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 2
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้เผยแพร่)
ปีที่เผยแพร่  :  2553


      สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com


วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (1)

ดิเรก  พรสีมา*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o  อันดับแรกเราจะต้องรู้ว่าพลังอำนาจของครูที่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร  พลังอำนาจของครูก็คือ การที่ครูสามารถกำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอนในแต่ละปี  แต่ละภาคเรียน  แต่ละเดือน  แต่ละสัปดาห์ได้ว่า  สิ้นปีการศึกษานี้เราสอนเด็กให้เด็กเป็นอย่างไร  มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร  คำว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรก็คือในแง่ความดีอยากให้เด็กเป็นอย่างไร  ในแง่ความเก่งอยากให้เด็กเป็นอย่างไร และในแง่ความสุขอยากให้เด็กเป็นอย่างไร 
o  มาตรฐานของชาติจะพูดถึงอยู่กลางๆ หรือพูดในเชิงนโยบายในลักษณะนามธรรมว่าอยากให้เป็นอย่างไร แต่โรงเรียนของเราในสภาพแวดล้อมอย่างนี้  บริบทอย่างนี้  ผลการทดสอบเมื่อปีที่แล้วเป็นอย่างนี้  ผลจากการสังเกตในแง่คุณธรรม ในแง่จริยธรรม ในแง่ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูรู้คุณหรืออะไรทั้งหลาย  จริยธรรมอะไรทั้งหลายเป็นอย่างนี้  ในแง่สุขภาพจิตเป็นอย่างนี้  ดังนั้น  คนที่มีพลังอำนาจจะสามารถกำหนดได้ว่า  สิ้นปีนี้จะได้ผลในแง่แต่ละเรื่องเป็นอย่างไร  เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่  ทีนี้พอรู้ว่าจะได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่  เขาจะต้องรู้ว่าจะต้องทำให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร  มีวิธีอย่างไร โดยส่วนหนึ่งหลักสูตรก็ให้กรอบให้แนวปฏิบัติไว้กว้างๆ หลักสูตรแกนกลางก็จะให้ไว้กว้างๆ ฉะนั้นเขาจะต้องรู้ว่าเขาจะใช้ตำราของใครเป็นตำราหลักในการจัดการเรียนการสอน ใช้สื่ออะไรเป็นสื่อหลักในการจัดการเรียนการสอนในแต่ละเรื่องแต่ละเนื้อหา  ใช้แหล่งเรียนรู้ที่ไหนบ้าง  และจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไร  เป้าหมายที่เขากำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นความดีหรืออะไร  ความดี  ความเก่ง  ความสุขก็ตามที่เขากำหนดไว้  มันถึงจะเกิด
o   นอกจากนั้นจะต้องรู้เขาจะมีวิธีวัด  วิธีประเมินอย่างไร  ถ้า Formative มาแล้วเห็นว่า  เด็กบางคนมันเรียนช้า  ต้องการความช่วยเหลือ  หรือว่า Formative เรื่องคุณธรรม จริยธรรม  มีนิสัยเกเร  ไม่สุภาพเรียบร้อย  ไม่กตัญญูรู้คุณ  จะทำอะไร  จะช่วยเด็กพิเศษเหล่านี้อย่างไร  จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการสอนของตนเองอย่างไรในแง่สื่อการสอน  วิธีการสอน  จะเปลี่ยนตำราเปลี่ยนอะไรอย่างไร  ครูที่มีพลังอำนาจจะคิดเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี  คิดและลงมือทำ
o   เขายังไม่ได้คิด  และยังไม่ได้ทำ  ทั้งๆ ที่กฎหมายหลายอย่างก็ให้อำนาจเขาไป  เพราะว่าให้บริหารแบบมีส่วนร่วม  ให้โรงเรียนทำ PDCA ในเรื่องวิชาการ  งบประมาณ  บุคคล  และเรื่องบริหารทั่วไปให้เขาทำเองเลย  เขาก็ไม่ได้ทำ  เขาไม่ทำ
o  ส่วนหนึ่งที่ครูไม่ทำก็เพราะว่า  รอผู้บริหารโรงเรียน  ส่วนหนึ่งก็ฟังเสียงผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมันมีวัฒนธรรมการทำงานครอบงำอยู่  แล้วก็มีกรอบงานครอบงำอยู่ คำว่ากรอบงานที่ว่านี้ก็คือเรื่องวิธีการ กฎเกณฑ์ กติกา วิทยฐานะ คือ บอกว่าทำสิ่งนี้ไปแล้วจะช่วยให้การทำวิทยฐานะผ่านหรือเปล่า จะทำให้ได้รับการเลื่อนวิทยฐานะหรือเปล่า นอกจากนั้นยังต้องโดนกรอบของการประเมินภายในและประเมินภายนอกครอบงำ แล้วก็มีกรอบจาก สพท. และกรอบจาก สพฐ. มีกติกา มีระเบียบปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ครอบงำอยู่ คือ มัวแต่พะวงและระแวงว่ามันมีกฎระเบียบครอบงำอยู่  แต่วิธีการที่จะทำให้ครูมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวครูนั่นเอง
-----------------------------------------------------

* ดร.ดิเรก  พรสีมา : ประธานคณะกรรมการคุรุสภา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  27  พฤศจิกายน  2553
ณ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  จังหวัดปทุมธานี

      สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com