วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (1)

ดร.สิริพร  บุญญานันต์*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o การเสริมสร้างพลังอำนาจของครูนี้อันดับแรกจะต้องเริ่มต้นที่ตัวครูเองก่อน โดยครูเองจะต้องเข้าใจว่าบทบาทของตัวเองในโรงเรียนคืออะไร  หน้าที่ของครูก็คือการให้ความรู้และอบรมเด็กเพื่อให้สามารถโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดี  สามารถดำรงตนอยู่ได้ในสังคมได้เป็นอย่างดี  ฉะนั้นครูจะต้องเข้าใจหน้าที่ของตัว  นอกเหนือจากวิชาที่ตนเองสอนแล้วครูจะต้องเข้าใจโลก  ทั้งโลกที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเด็กและโลกที่ไกลตัวออกไป  ครูมีหน้าที่เปิดโลกทัศน์ให้เด็กเห็นว่า จากตรงที่เขาอยู่มันจะเป็นยังไงบ้างเมื่อขยายออกไปสู่วงกว้างหรือสังคมที่กว้างขวางออกไป 
o 1.  ครูจะต้องหาความรู้  โดยต้องมีนิสัยใฝ่รู้  ต้องการอยากจะรู้อยู่ตลอดเวลา  รู้วิธีที่จะหาความรู้  ไม่เพียงแค่การบอกให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต  แต่ตัวครูเองก็จะต้องเป็นผู้ที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน  เช่น  ครูบางคนสอนนักเรียนมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแต่มีการใช้หนังสืออยู่เล่มเดียวหรือชีทเพียงเล่มเดียวสอนมาตลอด  ซึ่งโลกนี้มันเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา  ถ้าครูยังคงใช้วิธีการสอนเป็นเดิมอย่างเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์เด็กก็จะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะได้  ครูจะต้องใฝ่รู้  ต้องพยายามติดตามข่าวที่คิดว่าเป็นประโยชน์ที่คิดว่าจะนำมาบอกกล่าวให้ลูกศิษย์ได้  เพราะถ้าหากครูยังคงเป็นอยู่อย่างเดิม คือ เช้าขึ้นมาหิ้วกระเป๋าออกจากบ้านไปทำหน้าที่สอน  จบแล้วก็หิ้วกระเป๋ากลับบ้านวนเวียนอยู่อย่างนั้นปีแล้วปีเล่ามันก็ไม่เกิดอะไรที่พัฒนาขึ้น  ฉะนั้นครูเองจะต้องรู้สึกว่าตนเองนั้นคือผู้ชี้ทางหรือเปิดโลกให้กับเด็ก  ถ้ารู้สึกอย่างนั้นเมื่อไหร่แล้วครูก็จะหนลู่ทางที่จะช่วย  นอกจากการหาความรู้แล้วครูจะต้องมีทักษะต่างๆ ประกอบด้วย  เช่น  จิตวิทยาในการสอนเด็กเล็ก  เด็กโต  เพราะบางทีจะมีเทคนิค วิธีการ และนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในกระบวนการจัดการเรียนการสอน  อันนี้ครูจะต้องดูว่ามีอะไรที่เหมาะกับเด็กเหล่านี้บ้าง แล้วนำมาเข้ากระบวนการในห้องเรียน
o 2.  ระบบ  หมายถึง  ระบบที่จะเข้ามาช่วยให้ครูมีความใฝ่รู้  ครูอยากจะช่วยให้เด็กมีผลการเรียนที่ดี  แต่ถ้าระบบที่ว่านี้มันไม่ดีก็จะเป็นในทางตรงกันข้ามคือจะทำให้ครูท้อ ส่วนคนที่ไม่ท้อก็จะทำงานด้วยความเหนื่อยยาก  ซึ่งระบบที่จะช่วยก็จะมีหลายข้อหลายประการ  อันแรกสุด คือ กำลังใจให้กับคนที่เข้ามาเป็นครู  ให้มองเห็นความก้าวหน้าของตัวเอง  ว่าเมื่อเข้ามาเป็นครูแล้วจะต้องมีความเสียสละอะไรก็ตามว่ากันไปตามทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว  ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีระบบที่จะช่วยให้ครูได้มีขวัญกำลังใจอยู่มากมาย  แม้จะยังไม่ค่อยสะดวกโยธินอะไรมากนัก คือ ทางเดินยังขรุขระอยู่บ้างแต่ครูต้องเข้าใจว่างานในสายวิชาชีพครูนี้ไม่ใช่จะต้องจมดินจมทรายอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิต  หากแต่มันยังมีทางที่จะเติบโตขึ้นมาได้ เช่น ครูบางคนอาจจะอยากเติบโต  ขยับขยายเข้าไปอยู่ในเมืองเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น  แต่ต่อไปนี้ก็มีจะการส่งเสริมให้ครูอยู่กับที่มากขึ้น  ฉะนั้นจะต้องทำให้ครูเห็นความก้าวหน้าในสายวิชาชีพของตนเองก่อน  แล้วก็หาโอกาสที่จะก้าวหน้าให้แก่ตนเองอย่างการไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท  ปริญญาเอก  เป็นต้น

-----------------------------------------------------
* ดร.สิริพร  บุญญานันต์ : กรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
***บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่  7  ธันวาคม  2553
ณ  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  (สกศ.)  กรุงเทพมหานคร
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com