วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (1)


ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o การที่จะเสริมพลังอำนาจการทำงานของครูนั้นประการแรกจะต้องทำให้ครูทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งการที่จะทำให้ครูทำงานอย่างมีความสุขนั้นประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง คือ คนเรานี่บางทีอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข ร่ำรวยแค่ไหนก็ไม่มีความสุข แล้วเราจะสร้างบรรยากาศอย่างไรเพื่อให้เขาอยู่ที่โรงเรียนเราแล้วเขามีความสุข ซึ่งคำว่าความสุขนี่มันเกิดขึ้นหลายอย่าง อันที่หนึ่งคือความสุขที่ครูรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ  อันที่สอง คือ ครูรู้สึกพอใจในสภาพที่ตนเองอยู่ คือ มีความรู้สึกพอเพียง  มีเพื่อนร่วมงานที่ดี  ได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองต้องการ  และทำให้ครูรู้สึกว่าความสุขนั้นมันอยู่ที่ตัวครูนั่นเอง คือ เขาสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้เอง 
o ทีนี้ในส่วนของผู้บริหารจะทำอย่างไร  เพื่อให้ครูในโรงเรียนรู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าตัวครูเองอยู่โรงเรียนนี้แต่อยากย้ายไปอยู่โรงเรียนนั้น อยากย้ายไปอยู่โรงเรียนนี้ ซึ่งเราจะเห็นว่าบางโรงเรียนนั้นเป็นแค่โรงเรียนเล็กๆ ครูก็มีความสุขที่จะอยู่ 
o กรณีศึกษาโรงเรียนสอนเด็กพิการ ครูคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนสอบบรรจุได้แรกๆ นั้นเขาไม่อยากจะไปสอนที่โรงเรียนแห่งนี้เลย แต่พอเขาได้มาอยู่ไประยะหนึ่งแล้วกลับรู้สึกว่าไม่อยากจะย้ายไปที่ไหน  ที่สำคัญครูคนนั้นได้รู้และเข้าใจว่าการที่ได้สอนและดูแลเด็กพิการนั้นเป็นโอกาสที่จะได้แสดงออกถึงความรัก  ความเมตตาซึ่งมากกว่าการสอนไปตามหน้าที่ปกติธรรมดาในแต่ละวัน 
o คำว่าพอเพียงที่ว่านี้มันจะต้องสร้างลึกถึงความเข้าใจ  ทำให้รู้สึกตระหนักในภาระหน้าที่ ในสิ่งที่เขาทำ คนเรานี่มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด  เหมือนกับคนที่อยู่ในคุกก็ไม่อยากอยู่ เพราะว่าเขารู้สึกว่าเขาไม่มีความสุข  แต่พระที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดท่านกลับมีความสุขทั้งๆ ที่ไม่มีอาหารกินเหมือนอยู่ในคุก ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาศรัทธาในงานในหน้าที่ เขารู้สึกว่าเพื่อร่วมงานแคร์เขา ให้ความสำคัญกับเขา  และผู้บริหารก็ให้เกียรติเขาในการทำงานในหน้าที่  คนบางคนเขาว่ามาเลยว่าเงินน่ะไม่มีความหมายเพราะเขามีความสุขในสิ่งที่ได้กระทำอยู่  ดังนั้นเราจะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้ครูรู้สึกว่าเขาอยู่ที่นี่แล้วเขามีความสุขในการทำงาน
o ประการที่  2  คือ ครูรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  ตัดสินใจในแนวทางของโรงเรียน  ในวิสัยทัศน์ของโรงเรียน  หมายถึง  ความเห็นของครูและความเห็นของผู้บริหารนั้นสอดคล้องกันในแนวทางแห่งวิสัยทัศน์ของโรงเรียน คือไปด้วยกันได้ ความเห็นในเรื่องทิศทางของโรงเรียนไปด้วยกัน  แต่ไม่ใช่การตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ น้อย เพราะบางทีการตัดสินใจในเรื่องเล็กน้อยๆ ของครูหากผู้บริหารเข้ามายุ่งก็อาจจะทำให้เขาไม่พอใจ  แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือในเรื่องวิสัยทัศน์ของโรงเรียนจะต้องทำให้ครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและเห็นพ้องต้องกัน  ผู้บริหารจะต้องยอมรับว่าครูในโรงเรียนนั้นแตกต่างกันและยอมรับความแตกต่างของเขาเหล่านั้น เพราะความแตกต่างอันนี้นั้นน่ะคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันงานต่างๆ ของโรงเรียนให้ไปสู่จุดหมายได้ ไม่ใช่ผู้บริหารอยากได้แบบนี้ก็ต้องวิ่งตามวิ่งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแบบนั้นไม่ใช่ ผู้บริหารจะต้องรู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคลและยอมรับความแตกต่างอันนั้นให้ได้ 
o ประการที่  3  ต้องสร้างบรรยากาศแวดล้อมเพื่อให้ครูรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แนะนำ  ทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็ก  ไม่ใช่แค่การทำหน้าที่สอนไปวันๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา ผู้บริหารจะต้องไม่มองข้ามสิ่งเหล่านี้โดยการปล่อยให้ผ่านไปวันๆ ไม่คอยไปนิเทศการสอนหรือแนะนำว่าการเรียนการสอนนี่มันสนุกและมีความหมาย  แนวคิดใหม่มันเปลี่ยนไปแล้ว  ถ้าทำอย่างนี้แล้วครูจะมีความสุข ทำให้ครูรู้สึกว่าเขาสามารถเป็นผู้แนะนำที่ดี ส่วนผู้บริหารมีหน้าที่เสนอแนะว่าครูสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้
o สังคมไทยเรานั้นเป็นสังคมที่ในอดีตก็เป็นลักษณะของการเชื่อฟัง พอเป็นในระบบราชการก็จะเป็นลักษณะของการสั่งการต่างๆ อะไรแบบนี้  ดังนั้น หากผู้บริหารได้รับคำสั่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วจะต้องนำมาวิเคราะห์ว่าจะนำไปใช้จริงในสถานศึกษากับครูได้อย่างไรที่จะทำให้เกิดบรรยากาศ  ไม่ใช่การสั่งการอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน


-----------------------------------------------------

* ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ : กรรมการสภาการศึกษา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
***บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  11  ธันวาคม  2553
ณ  มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  ปทุมธานี
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com