วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (จบ)

ดร.สิริพร  บุญญานันต์*
อภิชาติ  ทองน้อย**


oการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูเกิดความก้าวหน้าวิชาชีพโดยการใช้ระบบคูปองเพื่อให้ครูนั้นไปใช้ในการหาความรู้ได้อย่างหลากหลายวิธี  เช่น หากครูคนนี้ได้คูปองราคาสองพันบาทหรือสามพันบาท  และอยากพัฒนาตนเองในด้านไหนที่ไหน ก็สามารถนำเอาคูปองนี้ไปใช้ในการพัฒนาตัวเองได้ตามความต้องการ อย่างครูภาษาไทยหรือครูวิทยาศาสตร์แต่อยากรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติมก็สามารถนำเอาคูปองดังกล่าวนี้ไปใช้ในการฝึกอบรมหรือเข้าคอร์สภาษาอังกฤษเพื่อให้สามารถใช้งานได้ดีกว่าเดิม แต่ในปัจจุบันนี้ทาง สพฐ.ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ คือ จัดกิจกรรมหรือโครงการฝึกอบรมแบบเหมารวมอยู่ ความก้าวหน้าในวิชาชีพนี้หมายความถึงทั้งความก้าวหน้าในงานที่ทำอยู่ คือ การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน  และความก้าวหน้าในวิชาชีพของตน
o การเปิดโอกาสให้ครูได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ในสถานศึกษา  เพื่อให้ครูได้เข้ามารับรู้ร่วมกันกับผู้บริหารว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในโรงเรียนของเราหรือชุมชนของเรา  หรือโรงเรียนของเราจะต้องทำอะไรกับโรงเรียนและชุมชนได้บ้าง  ครูเล็กๆ ก็อาจจะเข้ามาออกเสียงแม้จะเป็นเสียงที่เบาหน่อย  ส่วนครูที่โตแล้วก็สามารถที่จะมีเสียงที่มีพลังมากกว่าก็อาจจะแสดงพลังได้ดีกว่า เพราะในบางทีบางครั้งผู้บริหารก็อาจจะมีข้อบกพร่องอยู่ในหลายอย่างหลายประการ ดังนั้น  การเข้ามาช่วยผู้บริหารให้สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ภายในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่ควรเปิดโอกาสให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
o การส่งเสริมทางด้านทรัพยากรอย่างเช่นสื่อ เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้ครูสามารถที่จะมีพลังอำนาจในการทำงานได้  หากแต่ต้องมีวิธีการที่จะเชื่อมระหว่างครูเก่าและครูใหม่หรือครูที่ใช้งานสื่อเทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างคล่องแคล่วและครูที่ไม่คุ้นเคยกับสื่อใหม่ๆ มาก่อน จึงจะสามารถใช้งานร่วมกันได้เกิดประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอน
o  หากผู้บริหารสถานศึกษายังไม่ค่อยส่งเสริมหรือเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ครูในระดับน้อยอยู่ ครูซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในโรงเรียนจะต้องพยายามหาวิธีการหรือแนวทางที่จะให้ผู้บริหารโรงเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้บริหาร  และช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูไปทีละน้อย  จนกลายเป็นเรื่องปกติในที่สุด


-----------------------------------------------------

* ดร.สิริพร  บุญญานันต์ : กรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
***บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่  7  ธันวาคม  2553
ณ  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  (สกศ.)  กรุงเทพมหานคร
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com