วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (จบ)

ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o เพื่อนครูคือส่วนสำคัญที่จะร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียน  ด้วยความเป็นพี่เป็นน้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ  และผู้บริหารจะต้องเข้าไปมีบทบาทโดยการใช้กระบวนการจัดการความรู้เข้าไป สร้างบรรยากาศมันไม่ใช่ง่ายแต่ก็ต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ ครูเก่าต้องมีอะไรเก่ง  เช่นเดียวกันครูใหม่ก็มีอะไรที่เก่งไม่แพ้กัน หากแต่อาจจะเป็นคนละด้านคนละอย่าง ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้ความเก่งเหล่านั้นมากองรวมกัน  เรื่องอย่างนี้เราจะทำแบบนี้แก้ปัญหาแบบนี้ เกิดผลออกมาก็มาดูกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดผู้นำขึ้นมา แต่ไม่ใช่ผู้นำในเชิงการบริหาร หากโรงเรียนไหนมีภาวะผู้นำเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนนั้นไปไม่รอดแน่นอน  ฉะนั้นจะต้องไปสร้างเสริมพลังอำนาจเพื่อให้เกิดภาวะผู้นำขึ้นภายในโรงเรียนให้มากๆ คนนี้เป็นผู้นำในเรื่องนี้  คนนี้เป็นผู้นำในเรื่องนั้นๆ การที่จะพัฒนาคนโดยการไปเชิญคนข้างนอกมานั้นเอาไว้ก่อน หรือคนที่มีแววก็ส่งไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมแล้วเอามาเล่าให้เพื่อนครูคนอื่นๆ ฟัง  สามารถถ่ายทอดต่อกันได้และนำไปปฏิบัติได้จริงในโรงเรียน
o วิธีการเสริมสร้างพลังอำนาจนี้จะช่วยเสริมคนเก่งให้เก่งยิ่งขึ้น ช่วยคนที่ด้อยให้เก่งขึ้นมา คนเรามีสิ่งที่เรียนรู้มาแล้วจากประสบการณ์ชีวิต ต้องจับให้ได้ว่าเขาเด่นในเรื่องอะไร ผู้บริหารต้องจัดเวทีให้ ต้องทำหน้าที่ควบคุมและกระตุ้นให้ครูทำงานได้อย่างราบรื่น
o ภาวะผู้นำของผู้บริหารสำคัญมากในการที่จะ Empower คน  โดย 1. จะต้องเชื่อว่าครูทุกคนมีความรู้ และความรู้ของแต่ละคนนี้แตกต่างกัน ต่อมา 2. คือ ผู้บริหารจะต้องทำตัวให้เป็นตัวแบบให้ได้ 3.ผู้บริหารต้องสามารถรวมความคิดของคนในองค์กรให้ได้  หรือเรียกง่ายๆ ว่าผู้บริหารจะต้องมีธรรมาภิบาลในการบริหาร 
o บทบาทของผู้บริหารในการเสริมสร้างพลังอำนาจแก่ครูนั้นไม่ใช่เพียงแค่การส่งผ่านอย่างเดียว หากได้รับคำสั่งหรือโครงการอะไรมาแล้วก็จะต้องกรองก่อนว่า  งานนั้นๆ เหมาะสมกับครูคนใด  ฝ่ายใด  ต้องพูดและแสดงออกในเชิงการให้กำลังใจแก่ครู
o ในส่วนของครูเองนั้น หากว่าต้องตกอยู่ในภาวะที่ผู้บริหารนั้นไม่ใช่คนที่มีภาวะผู้นำทางการบริหาร คือ ไม่ได้มีหลักในการกระจายอำนาจหรือเสริมสร้างพลังอำนาจแก่ครูในโรงเรียน ครูสามารถที่จะรวมตัวกันเพื่อบริหารจัดการตนเองได้ในทำนองเดียวกับการสอนเจ้านาย ในลักษณะของคลื่นใต้น้ำที่จะส่งแรงกระเพิ่มไปสู่ข้างบนหรือในวงกว้าง เช่น กรณีของหมอในโรงพยาบาลซึ่งมักจะอ่านตัวหนังสือของหัวหน้างานในเอกสารไม่ออก วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสมารวมตัวกันจึงได้นำเอาเอกสารที่เคยประสบปัญหาดังกล่าวซึ่งได้ถ่ายเอกสารไว้มาถามในที่ประชุมว่าอันนี้เป็นตัวหนังสือหรือลายเซ็นของใครอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งหัวหน้างานก็จะได้รับการบอกกล่าวตักเตือนไปในเวลาเดียวกันโดยไม่รู้สึกว่าตนเองเสียหน้า  หากแต่จะต้องระมัดระวังในเรื่องการเซ็นเอกสารในโอกาสต่อๆ ไปนั่นเอง  ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า  ครูนั้นจะต้องมีความสามัคคีกัน  เพราะการที่จะเปลี่ยนแปลงจากผู้บริหารลงมาข้างล่างนั้นจะง่ายกว่าการเปลี่ยนแปลงแบบล่างขึ้นบน  แต่มันมีวิธีทำได้  สิ่งสำคัญก็คือต้องให้เกียรติผู้บริหารในฐานะหัวหน้างาน โดยต้องรวมกลุ่มกันแล้วพยายามเป็นกระจกสะท้อนให้กับผู้บริหาร พยายามจับจุดเพื่อมองหาจุดเด่น จุดดีของผู้บริหารให้ได้  แล้วหาโอกาส  หากิจกรรมหรือโครงการเพื่อให้ผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ เราต้องเข้าใจว่าโรงเรียนที่เราอยู่นี้มีผู้บริหารเป็นผู้บังคับบัญชา ในทางกลับกันวิธีการเหล่านี้ถือเป็นการเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ผู้บริหารได้เช่นเดียวกัน
-----------------------------------------------------

* ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ : กรรมการสภาการศึกษา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
***บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  11  ธันวาคม  2553
ณ  มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  ปทุมธานี
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (1)


ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o การที่จะเสริมพลังอำนาจการทำงานของครูนั้นประการแรกจะต้องทำให้ครูทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งการที่จะทำให้ครูทำงานอย่างมีความสุขนั้นประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง คือ คนเรานี่บางทีอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข ร่ำรวยแค่ไหนก็ไม่มีความสุข แล้วเราจะสร้างบรรยากาศอย่างไรเพื่อให้เขาอยู่ที่โรงเรียนเราแล้วเขามีความสุข ซึ่งคำว่าความสุขนี่มันเกิดขึ้นหลายอย่าง อันที่หนึ่งคือความสุขที่ครูรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ  อันที่สอง คือ ครูรู้สึกพอใจในสภาพที่ตนเองอยู่ คือ มีความรู้สึกพอเพียง  มีเพื่อนร่วมงานที่ดี  ได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองต้องการ  และทำให้ครูรู้สึกว่าความสุขนั้นมันอยู่ที่ตัวครูนั่นเอง คือ เขาสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้เอง 
o ทีนี้ในส่วนของผู้บริหารจะทำอย่างไร  เพื่อให้ครูในโรงเรียนรู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าตัวครูเองอยู่โรงเรียนนี้แต่อยากย้ายไปอยู่โรงเรียนนั้น อยากย้ายไปอยู่โรงเรียนนี้ ซึ่งเราจะเห็นว่าบางโรงเรียนนั้นเป็นแค่โรงเรียนเล็กๆ ครูก็มีความสุขที่จะอยู่ 
o กรณีศึกษาโรงเรียนสอนเด็กพิการ ครูคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนสอบบรรจุได้แรกๆ นั้นเขาไม่อยากจะไปสอนที่โรงเรียนแห่งนี้เลย แต่พอเขาได้มาอยู่ไประยะหนึ่งแล้วกลับรู้สึกว่าไม่อยากจะย้ายไปที่ไหน  ที่สำคัญครูคนนั้นได้รู้และเข้าใจว่าการที่ได้สอนและดูแลเด็กพิการนั้นเป็นโอกาสที่จะได้แสดงออกถึงความรัก  ความเมตตาซึ่งมากกว่าการสอนไปตามหน้าที่ปกติธรรมดาในแต่ละวัน 
o คำว่าพอเพียงที่ว่านี้มันจะต้องสร้างลึกถึงความเข้าใจ  ทำให้รู้สึกตระหนักในภาระหน้าที่ ในสิ่งที่เขาทำ คนเรานี่มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด  เหมือนกับคนที่อยู่ในคุกก็ไม่อยากอยู่ เพราะว่าเขารู้สึกว่าเขาไม่มีความสุข  แต่พระที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดท่านกลับมีความสุขทั้งๆ ที่ไม่มีอาหารกินเหมือนอยู่ในคุก ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขาศรัทธาในงานในหน้าที่ เขารู้สึกว่าเพื่อร่วมงานแคร์เขา ให้ความสำคัญกับเขา  และผู้บริหารก็ให้เกียรติเขาในการทำงานในหน้าที่  คนบางคนเขาว่ามาเลยว่าเงินน่ะไม่มีความหมายเพราะเขามีความสุขในสิ่งที่ได้กระทำอยู่  ดังนั้นเราจะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้ครูรู้สึกว่าเขาอยู่ที่นี่แล้วเขามีความสุขในการทำงาน
o ประการที่  2  คือ ครูรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  ตัดสินใจในแนวทางของโรงเรียน  ในวิสัยทัศน์ของโรงเรียน  หมายถึง  ความเห็นของครูและความเห็นของผู้บริหารนั้นสอดคล้องกันในแนวทางแห่งวิสัยทัศน์ของโรงเรียน คือไปด้วยกันได้ ความเห็นในเรื่องทิศทางของโรงเรียนไปด้วยกัน  แต่ไม่ใช่การตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ น้อย เพราะบางทีการตัดสินใจในเรื่องเล็กน้อยๆ ของครูหากผู้บริหารเข้ามายุ่งก็อาจจะทำให้เขาไม่พอใจ  แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือในเรื่องวิสัยทัศน์ของโรงเรียนจะต้องทำให้ครูมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและเห็นพ้องต้องกัน  ผู้บริหารจะต้องยอมรับว่าครูในโรงเรียนนั้นแตกต่างกันและยอมรับความแตกต่างของเขาเหล่านั้น เพราะความแตกต่างอันนี้นั้นน่ะคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันงานต่างๆ ของโรงเรียนให้ไปสู่จุดหมายได้ ไม่ใช่ผู้บริหารอยากได้แบบนี้ก็ต้องวิ่งตามวิ่งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแบบนั้นไม่ใช่ ผู้บริหารจะต้องรู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคลและยอมรับความแตกต่างอันนั้นให้ได้ 
o ประการที่  3  ต้องสร้างบรรยากาศแวดล้อมเพื่อให้ครูรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แนะนำ  ทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็ก  ไม่ใช่แค่การทำหน้าที่สอนไปวันๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา ผู้บริหารจะต้องไม่มองข้ามสิ่งเหล่านี้โดยการปล่อยให้ผ่านไปวันๆ ไม่คอยไปนิเทศการสอนหรือแนะนำว่าการเรียนการสอนนี่มันสนุกและมีความหมาย  แนวคิดใหม่มันเปลี่ยนไปแล้ว  ถ้าทำอย่างนี้แล้วครูจะมีความสุข ทำให้ครูรู้สึกว่าเขาสามารถเป็นผู้แนะนำที่ดี ส่วนผู้บริหารมีหน้าที่เสนอแนะว่าครูสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้
o สังคมไทยเรานั้นเป็นสังคมที่ในอดีตก็เป็นลักษณะของการเชื่อฟัง พอเป็นในระบบราชการก็จะเป็นลักษณะของการสั่งการต่างๆ อะไรแบบนี้  ดังนั้น หากผู้บริหารได้รับคำสั่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วจะต้องนำมาวิเคราะห์ว่าจะนำไปใช้จริงในสถานศึกษากับครูได้อย่างไรที่จะทำให้เกิดบรรยากาศ  ไม่ใช่การสั่งการอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน


-----------------------------------------------------

* ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ : กรรมการสภาการศึกษา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
***บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  11  ธันวาคม  2553
ณ  มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  ปทุมธานี
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com


วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (จบ)

ดร.สิริพร  บุญญานันต์*
อภิชาติ  ทองน้อย**


oการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูเกิดความก้าวหน้าวิชาชีพโดยการใช้ระบบคูปองเพื่อให้ครูนั้นไปใช้ในการหาความรู้ได้อย่างหลากหลายวิธี  เช่น หากครูคนนี้ได้คูปองราคาสองพันบาทหรือสามพันบาท  และอยากพัฒนาตนเองในด้านไหนที่ไหน ก็สามารถนำเอาคูปองนี้ไปใช้ในการพัฒนาตัวเองได้ตามความต้องการ อย่างครูภาษาไทยหรือครูวิทยาศาสตร์แต่อยากรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติมก็สามารถนำเอาคูปองดังกล่าวนี้ไปใช้ในการฝึกอบรมหรือเข้าคอร์สภาษาอังกฤษเพื่อให้สามารถใช้งานได้ดีกว่าเดิม แต่ในปัจจุบันนี้ทาง สพฐ.ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ คือ จัดกิจกรรมหรือโครงการฝึกอบรมแบบเหมารวมอยู่ ความก้าวหน้าในวิชาชีพนี้หมายความถึงทั้งความก้าวหน้าในงานที่ทำอยู่ คือ การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน  และความก้าวหน้าในวิชาชีพของตน
o การเปิดโอกาสให้ครูได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ในสถานศึกษา  เพื่อให้ครูได้เข้ามารับรู้ร่วมกันกับผู้บริหารว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในโรงเรียนของเราหรือชุมชนของเรา  หรือโรงเรียนของเราจะต้องทำอะไรกับโรงเรียนและชุมชนได้บ้าง  ครูเล็กๆ ก็อาจจะเข้ามาออกเสียงแม้จะเป็นเสียงที่เบาหน่อย  ส่วนครูที่โตแล้วก็สามารถที่จะมีเสียงที่มีพลังมากกว่าก็อาจจะแสดงพลังได้ดีกว่า เพราะในบางทีบางครั้งผู้บริหารก็อาจจะมีข้อบกพร่องอยู่ในหลายอย่างหลายประการ ดังนั้น  การเข้ามาช่วยผู้บริหารให้สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ภายในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่ควรเปิดโอกาสให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
o การส่งเสริมทางด้านทรัพยากรอย่างเช่นสื่อ เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้ครูสามารถที่จะมีพลังอำนาจในการทำงานได้  หากแต่ต้องมีวิธีการที่จะเชื่อมระหว่างครูเก่าและครูใหม่หรือครูที่ใช้งานสื่อเทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างคล่องแคล่วและครูที่ไม่คุ้นเคยกับสื่อใหม่ๆ มาก่อน จึงจะสามารถใช้งานร่วมกันได้เกิดประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอน
o  หากผู้บริหารสถานศึกษายังไม่ค่อยส่งเสริมหรือเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ครูในระดับน้อยอยู่ ครูซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในโรงเรียนจะต้องพยายามหาวิธีการหรือแนวทางที่จะให้ผู้บริหารโรงเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้บริหาร  และช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูไปทีละน้อย  จนกลายเป็นเรื่องปกติในที่สุด


-----------------------------------------------------

* ดร.สิริพร  บุญญานันต์ : กรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
***บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่  7  ธันวาคม  2553
ณ  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  (สกศ.)  กรุงเทพมหานคร
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (1)

ดร.สิริพร  บุญญานันต์*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o การเสริมสร้างพลังอำนาจของครูนี้อันดับแรกจะต้องเริ่มต้นที่ตัวครูเองก่อน โดยครูเองจะต้องเข้าใจว่าบทบาทของตัวเองในโรงเรียนคืออะไร  หน้าที่ของครูก็คือการให้ความรู้และอบรมเด็กเพื่อให้สามารถโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดี  สามารถดำรงตนอยู่ได้ในสังคมได้เป็นอย่างดี  ฉะนั้นครูจะต้องเข้าใจหน้าที่ของตัว  นอกเหนือจากวิชาที่ตนเองสอนแล้วครูจะต้องเข้าใจโลก  ทั้งโลกที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเด็กและโลกที่ไกลตัวออกไป  ครูมีหน้าที่เปิดโลกทัศน์ให้เด็กเห็นว่า จากตรงที่เขาอยู่มันจะเป็นยังไงบ้างเมื่อขยายออกไปสู่วงกว้างหรือสังคมที่กว้างขวางออกไป 
o 1.  ครูจะต้องหาความรู้  โดยต้องมีนิสัยใฝ่รู้  ต้องการอยากจะรู้อยู่ตลอดเวลา  รู้วิธีที่จะหาความรู้  ไม่เพียงแค่การบอกให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต  แต่ตัวครูเองก็จะต้องเป็นผู้ที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน  เช่น  ครูบางคนสอนนักเรียนมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแต่มีการใช้หนังสืออยู่เล่มเดียวหรือชีทเพียงเล่มเดียวสอนมาตลอด  ซึ่งโลกนี้มันเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา  ถ้าครูยังคงใช้วิธีการสอนเป็นเดิมอย่างเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์เด็กก็จะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะได้  ครูจะต้องใฝ่รู้  ต้องพยายามติดตามข่าวที่คิดว่าเป็นประโยชน์ที่คิดว่าจะนำมาบอกกล่าวให้ลูกศิษย์ได้  เพราะถ้าหากครูยังคงเป็นอยู่อย่างเดิม คือ เช้าขึ้นมาหิ้วกระเป๋าออกจากบ้านไปทำหน้าที่สอน  จบแล้วก็หิ้วกระเป๋ากลับบ้านวนเวียนอยู่อย่างนั้นปีแล้วปีเล่ามันก็ไม่เกิดอะไรที่พัฒนาขึ้น  ฉะนั้นครูเองจะต้องรู้สึกว่าตนเองนั้นคือผู้ชี้ทางหรือเปิดโลกให้กับเด็ก  ถ้ารู้สึกอย่างนั้นเมื่อไหร่แล้วครูก็จะหนลู่ทางที่จะช่วย  นอกจากการหาความรู้แล้วครูจะต้องมีทักษะต่างๆ ประกอบด้วย  เช่น  จิตวิทยาในการสอนเด็กเล็ก  เด็กโต  เพราะบางทีจะมีเทคนิค วิธีการ และนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในกระบวนการจัดการเรียนการสอน  อันนี้ครูจะต้องดูว่ามีอะไรที่เหมาะกับเด็กเหล่านี้บ้าง แล้วนำมาเข้ากระบวนการในห้องเรียน
o 2.  ระบบ  หมายถึง  ระบบที่จะเข้ามาช่วยให้ครูมีความใฝ่รู้  ครูอยากจะช่วยให้เด็กมีผลการเรียนที่ดี  แต่ถ้าระบบที่ว่านี้มันไม่ดีก็จะเป็นในทางตรงกันข้ามคือจะทำให้ครูท้อ ส่วนคนที่ไม่ท้อก็จะทำงานด้วยความเหนื่อยยาก  ซึ่งระบบที่จะช่วยก็จะมีหลายข้อหลายประการ  อันแรกสุด คือ กำลังใจให้กับคนที่เข้ามาเป็นครู  ให้มองเห็นความก้าวหน้าของตัวเอง  ว่าเมื่อเข้ามาเป็นครูแล้วจะต้องมีความเสียสละอะไรก็ตามว่ากันไปตามทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว  ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีระบบที่จะช่วยให้ครูได้มีขวัญกำลังใจอยู่มากมาย  แม้จะยังไม่ค่อยสะดวกโยธินอะไรมากนัก คือ ทางเดินยังขรุขระอยู่บ้างแต่ครูต้องเข้าใจว่างานในสายวิชาชีพครูนี้ไม่ใช่จะต้องจมดินจมทรายอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิต  หากแต่มันยังมีทางที่จะเติบโตขึ้นมาได้ เช่น ครูบางคนอาจจะอยากเติบโต  ขยับขยายเข้าไปอยู่ในเมืองเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น  แต่ต่อไปนี้ก็มีจะการส่งเสริมให้ครูอยู่กับที่มากขึ้น  ฉะนั้นจะต้องทำให้ครูเห็นความก้าวหน้าในสายวิชาชีพของตนเองก่อน  แล้วก็หาโอกาสที่จะก้าวหน้าให้แก่ตนเองอย่างการไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท  ปริญญาเอก  เป็นต้น

-----------------------------------------------------
* ดร.สิริพร  บุญญานันต์ : กรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
***บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่  7  ธันวาคม  2553
ณ  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  (สกศ.)  กรุงเทพมหานคร
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (จบ)


ดร.ดิเรก  พรสีมา*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o ครูจะรู้สึกว่าตนเองมีพลังอำนาจ  มีความมั่นใจ  มีเพื่อน ไม่ใช่การนั่งลอกแผนการสอนของคนอื่น  แต่เป็นการกระทำที่คล้ายๆ กับวัฒนธรรม  เป็นวัฒนธรรมในองค์กร  คือ เป็นสิ่งที่จะต้องทำ  แต่ที่เขาทำอย่างนี้ได้นั้นผู้อำนวยการเขาทำสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ กล่าวคือ คนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการได้นี่อย่างน้อยจะต้องเคยเป็นครูต้นแบบมาก่อน ไม่ใช่เคยเรียนมาแล้วก็ไม่เคยมีผลงานด้านการสอน  ไม่เคยมีประวัติว่าสอนเก่ง  ทำสื่อทำอะไรเก่ง  ถ้าไม่มีประวัติอันนั้นมาไม่มีสิทธิ์สมัครเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเด็ดขาด  แต่ถ้าหากเป็นครูต้นแบบด้านกีฬาฟุตบอลก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ทุกคน  เพราะเพียงโล่หรือถ้วยรางวัลเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถสะท้อนความรู้ความสามารถได้ คนที่จะได้รับการแต่งตั้งนั้นจะต้องมีประวัติทางด้านวิชาการ เมื่อมาเป็นผู้บริหารแล้วเขาจะต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ ก็จะมีความสนใจทางด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาบทเรียน การจัดการเรียนการสอน  เพราะว่าเขาจะรู้สึกถึงหัวอกตนเองสมัยตอนที่ตัวเองเป็นครู
o นอกจากนั้นแล้วผู้ปกครองจะต้องเป็นส่วนสำคัญว่าครูมีอิสระในการจัดการเรียนการสอนตรงตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด  เพราะบางแห่งแม้ว่าครูอยากจะกำหนดเป้าหมายเอง ผู้อำนวยการก็อยากเลือกกำหนดเป้าหมายเอง แต่ผู้ปกครอง หรือกรรมการสถานศึกษาอาจจะไม่เห็นด้วย  เช่น  กรรมการอาจจะต้องการให้เน้นแค่วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หรือเคมี  ฟิสิกส์  และยังต้องการให้ครูสอนหน้าชั้น  ไม่ต้องการให้นักเรียนไปค้นคว้าด้วยตนเอง  ไม่ต้องการให้พาไปทัศนะศึกษา  แต่อยากให้เรียนเล่มนี้  ทำแบบฝึกหัดเล่มนี้  ฉะนั้นเราจะต้องสร้างความเข้าใจให้กับกรรมการสถานศึกษา  เพื่อให้รู้ว่าเป้าหมายในการผลิตคนในระดับต่างๆ ทั้งอาชีวศึกษา  ประถม  หรือมัธยมก็ตาม  ว่าคืออะไร  ต้องให้ความรู้กับผู้ปกครองว่า  เราต้องการที่จะให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม  เป็นผู้ที่ขยัน  รับผิดชอบ  ต้องทำงานบ้าน  ต้องมีสัมมาคารวะ  ผู้ปกครองจะต้องช่วยในสิ่งเหล่านี้ให้เกิด  ไม่ใช่ให้ลูกอิสระเพียงอย่างเดียว  แต่ไม่ใช่ไม่เคยให้ทำงานอะไรเลยที่บ้าน
o สุดท้าย คือ ผู้บริหารจะต้องทำหน้าที่ของตนในฐานะผู้นำทางวิชาการ (Instructional leadership) ให้เกิดสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติ ตามแนวทางแห่งการกระจายอำนาจ โดยมอบหมายงานในหน้าที่ต่างๆ ของครูให้ตรงตามความถนัดและความต้องการของครู สำคัญที่สุดจะต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในตัวครูให้ได้ว่า ครูทุกคนนั้นมีความสามารถในตนเองอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพียงแต่ต้องการผู้นำที่สามารถนำพาหรือดึงความสามารถเหล่านั้นออกมาใช้ให้เกิดผลดีต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง




-----------------------------------------------------

* ดร.ดิเรก  พรสีมา : ประธานคณะกรรมการคุรุสภา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  27  พฤศจิกายน  2553
ณ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  จังหวัดปทุมธานี
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com