วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานของครู (2)

สำหรับในด้านการศึกษานั้นการเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานของครู หมายถึง กระบวนการให้ความรู้ในสิ่งที่เป็นปัจจัยสาเหตุ  สภาพแวดล้อม  รวมถึงกระบวนการต่างๆ  เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจในตัวครูซึ่งสิ่งดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานตามภารกิจที่รับผิดชอบอย่างมีความสุข (Muchinsky, 2000 : 414)  ดังนั้น  การเปิดโอกาสในการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานแก่ครูจึงเปรียบเสมือนการติดอาวุธทางปัญญาที่ช่วยให้ครูบรรลุภารกิจที่รับผิดชอบทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และช่วยขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ในระยะเวลาที่กำหนด
ปัญหาและอุปสรรคของการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานของครูนั้นมีสาเหตุมาจากทั้งในด้านที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล เรื่องขององค์การและสภาวะแวดล้อม ครูที่ไม่ประสงค์จะมีส่วนร่วมตัดสินใจด้านการบริหาร ให้เหตุผลว่า จะทำให้เสียเวลาของงานสอนและเห็นว่าการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงาน เป็นความพยายามปิดบังภาพลักษณ์ของผู้บริหารที่ขาดความสามารถในการทำงาน ครูบางคนขาดความพยายามจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนา ประกอบกับการขาดทรัพยากรที่เหมาะสมเพียงพอและขาดการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร ครูบางส่วนจึงไม่ร่วมมือ ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารบางส่วนก็กลัวการสูญเสียอำนาจ ครูบางคนต่อต้านเพราะไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ ไม่ต้องการเพิ่มความรับผิดชอบ ไม่วางใจในผลที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงหรือเพราะครูขาดทักษะความสามารถที่จะรองรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคของการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานของครู (Blase & Blase. 1994 :10 ; citing Weiss. 1990) ผลการศึกษาของคลีเกอร์และโลดแมน (Klecker & Loadman. 1996b :5 ; citing Sprague. 1992)  พบว่า  การทำงานที่ติดยึดอยู่กับความมีอคติในด้านเพศ รวมทั้งครูขาดเทคโนโลยีและขาดทักษะที่ต้องใช้ในการทำงาน ภาระงานที่เกินกำลังของครูหรือครูชอบทำงานตามลำพัง เป็นสิ่งที่มีผลกระทบและบั่นทอนพลังอำนาจการทำงานของครูแทบทั้งสิ้น

------------------------
Aphichart Thongnoi Ed.D.

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานของครู (1)

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโลก รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันสูงและต้องเร่งพัฒนาคนของตนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งท้าทายดังกล่าวได้  รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนไทยให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศ ดังจะเห็นได้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (2550 - 2554) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการสร้าง สังคมไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันโดยมีพันธกิจแรก คือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีคุณธรรมนำความรู้อย่างเท่าทัน โดยกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา คุณธรรม มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีทักษะในการประกอบอาชีพ มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550 : ออนไลน์) ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการหล่อหลอมเยาวชนให้เติบโตขึ้นเป็นแรงงานที่มีศักยภาพ  ทั้งนี้  ปัจจัยหลักประการหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา  คือ  การพัฒนาคุณภาพครูซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปข้างต้นประสบความสำเร็จ  (Reimers, 2003 : 12)  รุ่ง  แก้วแดง   (2544 : 134)  ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าถ้าครูมีความรู้ ความสามารถ เสียสละ และตั้งใจสอนสั่งนักเรียนอย่างเต็มความสามารถ จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กไทยเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดี เก่ง ฉลาด มีศักยภาพ มีความสุขและสามารถแข่งขันกับทุกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
Arlinsky  (1971)   Freire  (1973)  และ  Rothman  (1971)  ได้ร้อยเรียงประเด็นสำคัญที่กลายมาเป็นทฤษฎีของการเสริมสร้างพลังอำนาจ นั่นคือกระบวนการหลักของการเสริมสร้างพลังอำนาจต้องมีการพัฒนาระดับปัจเจกบุคคล  การมีส่วนร่วม การกระตุ้นให้เกิดสำนึก   และการทำงานด้านการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงสังคม (http://gotoknow.org,   2552 : ออนไลน์) ซึ่งความหมายของการเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowerment) มาจากภาษาลาตินว่า “potere” ที่แปลว่า  มีความสามารถ  ส่วน em  เป็นคำนำหน้าที่แปลว่า เป็นสาเหตุให้หรือทำให้เกิดด้วย  ซึ่งตามความหมายของ em นั้นจะเป็นการสะท้อนความหมายของ กระบวนการ และคำต่อท้าย   “ment” หมายถึง  ผลลัพธ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม  สิ่งของ หรือ การกระทำที่เกิดขึ้น ดังนั้น  Empowerment จึงหมายถึง  กระบวนการที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของบุคคลในการที่จะดึงสิ่งที่มีอยู่ภายในตัวเองในการควบคุม  จัดการสร้างอิทธิพลกับตนเอง   และสังคมรอบข้างอันจะส่งผลเป็นรูปธรรมต่อชีวิตตนเอง
------------------------
Aphichart Thongnoi Ed.D.