วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (จบ)


ดร.ดิเรก  พรสีมา*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o ครูจะรู้สึกว่าตนเองมีพลังอำนาจ  มีความมั่นใจ  มีเพื่อน ไม่ใช่การนั่งลอกแผนการสอนของคนอื่น  แต่เป็นการกระทำที่คล้ายๆ กับวัฒนธรรม  เป็นวัฒนธรรมในองค์กร  คือ เป็นสิ่งที่จะต้องทำ  แต่ที่เขาทำอย่างนี้ได้นั้นผู้อำนวยการเขาทำสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ กล่าวคือ คนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการได้นี่อย่างน้อยจะต้องเคยเป็นครูต้นแบบมาก่อน ไม่ใช่เคยเรียนมาแล้วก็ไม่เคยมีผลงานด้านการสอน  ไม่เคยมีประวัติว่าสอนเก่ง  ทำสื่อทำอะไรเก่ง  ถ้าไม่มีประวัติอันนั้นมาไม่มีสิทธิ์สมัครเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเด็ดขาด  แต่ถ้าหากเป็นครูต้นแบบด้านกีฬาฟุตบอลก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ทุกคน  เพราะเพียงโล่หรือถ้วยรางวัลเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถสะท้อนความรู้ความสามารถได้ คนที่จะได้รับการแต่งตั้งนั้นจะต้องมีประวัติทางด้านวิชาการ เมื่อมาเป็นผู้บริหารแล้วเขาจะต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ ก็จะมีความสนใจทางด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาบทเรียน การจัดการเรียนการสอน  เพราะว่าเขาจะรู้สึกถึงหัวอกตนเองสมัยตอนที่ตัวเองเป็นครู
o นอกจากนั้นแล้วผู้ปกครองจะต้องเป็นส่วนสำคัญว่าครูมีอิสระในการจัดการเรียนการสอนตรงตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด  เพราะบางแห่งแม้ว่าครูอยากจะกำหนดเป้าหมายเอง ผู้อำนวยการก็อยากเลือกกำหนดเป้าหมายเอง แต่ผู้ปกครอง หรือกรรมการสถานศึกษาอาจจะไม่เห็นด้วย  เช่น  กรรมการอาจจะต้องการให้เน้นแค่วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หรือเคมี  ฟิสิกส์  และยังต้องการให้ครูสอนหน้าชั้น  ไม่ต้องการให้นักเรียนไปค้นคว้าด้วยตนเอง  ไม่ต้องการให้พาไปทัศนะศึกษา  แต่อยากให้เรียนเล่มนี้  ทำแบบฝึกหัดเล่มนี้  ฉะนั้นเราจะต้องสร้างความเข้าใจให้กับกรรมการสถานศึกษา  เพื่อให้รู้ว่าเป้าหมายในการผลิตคนในระดับต่างๆ ทั้งอาชีวศึกษา  ประถม  หรือมัธยมก็ตาม  ว่าคืออะไร  ต้องให้ความรู้กับผู้ปกครองว่า  เราต้องการที่จะให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม  เป็นผู้ที่ขยัน  รับผิดชอบ  ต้องทำงานบ้าน  ต้องมีสัมมาคารวะ  ผู้ปกครองจะต้องช่วยในสิ่งเหล่านี้ให้เกิด  ไม่ใช่ให้ลูกอิสระเพียงอย่างเดียว  แต่ไม่ใช่ไม่เคยให้ทำงานอะไรเลยที่บ้าน
o สุดท้าย คือ ผู้บริหารจะต้องทำหน้าที่ของตนในฐานะผู้นำทางวิชาการ (Instructional leadership) ให้เกิดสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติ ตามแนวทางแห่งการกระจายอำนาจ โดยมอบหมายงานในหน้าที่ต่างๆ ของครูให้ตรงตามความถนัดและความต้องการของครู สำคัญที่สุดจะต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในตัวครูให้ได้ว่า ครูทุกคนนั้นมีความสามารถในตนเองอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพียงแต่ต้องการผู้นำที่สามารถนำพาหรือดึงความสามารถเหล่านั้นออกมาใช้ให้เกิดผลดีต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง




-----------------------------------------------------

* ดร.ดิเรก  พรสีมา : ประธานคณะกรรมการคุรุสภา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  27  พฤศจิกายน  2553
ณ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  จังหวัดปทุมธานี
สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com