วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (3)

ดร.ดิเรก  พรสีมา*
อภิชาติ  ทองน้อย**

oโรงเรียนฝึกสอนของบ้านเขากับโรงเรียนฝึกสอนของบ้านเรานั้นไม่เหมือนกัน โรงเรียนฝึกสอนของเขาต้องมีกฎหมายรับรองว่า  มหาวิทยาลัยนี้จะใช้โรงเรียนใดสำหรับเป็นที่ฝึกสอนของนักเรียนครูต้องมีกำหนดไว้และมีกฎหมายรับรอง ทำไมต้องมีกฎหมายรับรองก็เพราะว่าพอเลือกโรงเรียนต่างๆ เหล่านี้เป็นสถานที่สำหรับฝึกสอนแล้วคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ จะต้องเอาครูในโรงเรียนเหล่านี้มาอบรมจนครูทุกคนสามารถเป็น  Master teacher  คือทุกคนจริงๆ จะต้องสามารถทำหน้าที่นี้ได้  โดยเขาจะตามไปนิเทศไปอะไรตรงนี้จนมั่นใจแล้วว่าทุกคนเจ๋งหมดเลย  เขาถึงได้เตรียมเด็กไปฝึกสอนตรงนี้  แต่บ้านเราพาไปฝึกสอนตอนปี 5 ของเขานี่พาไปตั้งแต่เริ่มเรียน ปี 2
o ก่อนจะไปสังเกตการสอนเขาจะเอาแผนการสอนของครูที่เป็น Master teacher  หรือครูต้นแบบมาถ่ายเอกสารแจกกัน เช่น กลุ่มนี้จะไปสังเกตการสอนของครูคณิตศาสตร์ ม.4 ด้วยกันที่โรงเรียนที่ 1  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะไปสังเกตการเรียนการสอนที่โรงเรียนที่  2  ก็จะทำคล้ายๆ กัน  เอาแผนการสอนมาดูกัน  โดยนักเรียนครูทุกคนจะนั่งดูแผนการสอน  จะเห็นขั้นตอนว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  การนำเข้าสู่บทเรียนยังไง  การใช้สื่อใช้อะไรยังไง  แล้วอาจารย์ก็จะชี้ให้ดูว่า  นี่เขาใช้ทฤษฎีของคนนี้  ใช้หลักการของคนนั้น  อธิบายให้ฟัง  ไม่เน้นสอนทฤษฎีบนกระดานแต่มาโยงกับแผนการสอนให้เห็นเป็นรูปธรรม  พอออกจากเรียนทฤษฎีก็มาเข้าห้องมาฉายวีซีดีดูในแต่ละกลุ่มซึ่งได้ไปสังเกตการณ์การสอนของครูต้นแบบในโรงเรียนที่กำหนดไว้  แล้วบันทึกวีดีโอไว้เพื่อนำมาสนทนากลุ่มย่อยกัน  ว่าครูต้นแบบคนนั้นๆ ได้สอนตามบันทึกหรือไม่  สังเกตดูพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคน  แต่ละกลุ่มว่ามีพฤติกรรมอย่างไร  แล้วครูต้นแบบคนนั้นใช้วิธีใดในการแก้ไขปัญหา  จากนั้นย้อนถามนักเรียนครูว่าถ้าเป็นพวกเธอจะทำอย่างไรเช่น ตอนที่เด็กคนนี้ตอบคำถามไม่ถูกครูคนนั้นชมเขาหรือไม่  แล้วครูคนดังกล่าวใช้หลักการสอนของใครหรือใช้ทฤษฎีของใคร  ที่ครูเขาถามคนนั้นถามคนนี้เขาถามกระจายหรือไม่  หรือว่าถามเฉพาะคนเก่งๆ อยู่ไม่กี่คนที่นั่งอยู่แถวหน้า  เน้นการเอาทฤษฎีมาถามในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงภายในห้องเรียนดังกล่าวว่า  ถ้าพวกเธอเป็นครูต้นแบบคนนั้นเธอจะทำอย่างไร  ซักถามกันไปเรื่อยๆ แล้วมาสรุปในแต่ละวันว่า  มีประเด็นใดในการเรียนการสอนที่ต้องทำการปรับเปลี่ยน  เน้นการเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาพูดโยงเข้ากับทฤษฎีต่างๆ ฉะนั้นนักเรียนครูแต่ละคนก็จะเก่ง  เพราะจากการสังเกตการเรียนการสอนในช่วง 3-4 ปีของเขาเหล่านั้นในห้องเรียนในแต่ละที่มีอะไรบ้าง สามารถแยกแยะสภาพปัญหาระหว่างห้องเรียนของเด็กประถมว่ามีอะไร  ห้องเรียนของเด็กมัธยมว่ามีอะไร  แล้วครูที่เป็นครูต้นแบบเขาแก้ปัญหาอย่างไร แก้ถูกหลักการหรือไม่ แก้ถูกทฤษฎีหรือไม่ ซึ่งหลังจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้ว  อาจารย์ผู้สอนของนักเรียนครูก็จะบอกว่าประเด็นปัญหานี้ควรจะแก้ด้วยสิ่งใดหรือวิธีการใด  แต่เป็นไปในแนวทางการให้ข้อเสนอแนะเท่านั้นไม่ใช่ให้จดจำวิธีการเพื่อไปลอกเลียนแบบ  เพราะแนวการสอนของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน  วิธีดังกล่าวทำให้นักเรียนครูมีทางเลือกว่าจะใช้แนวทางการสอนอย่างไรจึงจะเหมาะกับตัวเอง  เหมาะกับความถนัดตามแนวทางการสอนของแต่ละคน ซึ่งกว่าจะจบการศึกษาออกไปเป็นครูนั้นจะต้องผ่านกรณีศึกษาของครูต้นแบบมากกว่า 100 คน  ฉะนั้นเขาจะทำให้ครูแต่ละคนเก่ง 
o พอครูเก่งแล้วเวลาไปทำงานในโรงเรียน  ทุกประเทศที่ครูเก่งๆ เขาจะเอาครูที่สอนวิชาเดียวกันมาประชุมร่วมกัน  เช่น  ประเทศฟินแลนด์  ญี่ปุ่น  สิงคโปร์  ทุกๆ 2 สัปดาห์ครูที่สอนคณิตศาสตร์ ม.2 ในเขตพื้นที่เดียวกัน (อำเภอ  หรือเมืองเดียวกัน)  มาที่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งภายในเขตพื้นที่นั้นๆ เพื่อมาทำแผนการสอนสำหรับสอนสัปดาห์หน้า ครูที่ทำการสอนคณิตศาสตร์ชั้น ม.2 ทั้งหมดมานั่งปรึกษาหารือกัน  สนทนากลุ่มกันว่าจะสอนในเนื้อหาที่กำลังจะมาถึงในสัปดาห์หน้าอย่างไรเพื่อนำไปใช้ในระยะเวลา  2 สัปดาห์  โดยร่วมกันกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ทั้งตำราเรียนควรเป็นเล่มไหน สื่อการสอนควรเป็นชนิดใด  กำหนดไว้หมด  โจทย์คำถามเรื่องละ 10 ข้อ  ใช้แบบทดสอบอย่างนั้นอย่างนี้ หากว่าสื่อการสอนประเภทใดยังไม่มีใช้ในโรงเรียนก็ช่วยกันทำช่วยกันผลิตขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ เช่นเดียวกันการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ม.3 ควรไปประชุมร่วมกันที่โรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้  โดยเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพเวียนไปเรื่อยๆ ในกลุ่มโรงเรียนของตน  วิธีการนี้จะทำให้ครูรู้สึกว่าตนเองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง  หากแต่มีเพื่อนๆ ครูที่สอนวิชาเดียวกันอยู่ภายในเขตพื้นที่เดียวกัน และประสบปัญหาในการสอนในลักษณะเดียวกัน ทำให้รู้สึกว่ามีความเชี่ยวชาญในสายงานการ สอน  มีทักษะวิชาชีพเพิ่มขึ้นในสายงานครู  และเกิดความมั่นใจในตนเองที่จะทำการสอนให้เหมาะสมกับสภาพจริงของผู้เรียน


-----------------------------------------------------

* ดร.ดิเรก  พรสีมา : ประธานคณะกรรมการคุรุสภา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  27  พฤศจิกายน  2553
ณ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  จังหวัดปทุมธานี

      สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com