วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (2)


ดิเรก  พรสีมา*
อภิชาติ  ทองน้อย**
o ครูเองต้องสร้างความเข้าใจ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของครู ไม่ว่าจะเป็น พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พรบ.กคศ.  พบร.ระเบียบบริหารราชการกระทรวง  หรือพรบ.คุรุสภา  หรือพวกประกาศกระทรวง  กฎกระทรวง  และข้อบังคับของกคศ.ก็ตาม  รวมถึงหนังสือเวียนของกคศ. หนังสือเวียนของสพฐ.  ว่ามาตรฐานการศึกษาเขาเขียนไว้นั้นตัวเองรู้หรือไม่  เพราะบางคนอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ  ไม่เข้าใจก็เลยคิดว่าเขาบังคับเราให้ทำ  แต่ที่จริงเขาเขียนไว้กว้างมาก  มาตรฐานที่กระทรวงกำหนดนั้นเราประกาศไปตลอด  เราบอกไปตลอดว่า  มาตรฐานขั้นต่ำเป็นเท่าไหร่  นี่ประกาศมา 14 ตัว  18  ตัว หรือต่อไปจะ 12 ตัวอะไรก็แล้วแต่  สิ่งเหล่านี้คือมาตรฐานขั้นต่ำ  โรงเรียนจะต่ำกว่านี้ไม่ได้  เพราะถ้าโรงเรียนจะทำสูงกว่านี้กระทรวงก็จะมีแต่อนุโมทนาสาธุ  แต่สิ่งเหล่านี้บางครูก็นึกว่า  กระทรวงผูกมัดมา  บีบรัดมาให้เราทำแค่นี้  หากเราอยากทำอย่างอื่นก็ทำไม่ได้  อันนี้คือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง  ก็เลยเป็นข้ออ้างที่ทำไม่กล้าคิดต่อเพราะตัวเองไม่ได้รู้ความจริงว่าคืออะไรกันแน่
o ในด้านความรู้ความสามารถของครูเราโดยทั่วไปแล้วหากนำไปเทียบกับครูลาว  ครูพม่า หรือครูเขมรจะพบว่า  ความสามารถในเนื้อหาวิชาดีกว่า  ความรู้ความเข้าใจความสามารถในการถ่ายทอดก็ดีกว่า  แต่ถ้าไปเทียบกับมาเลเซียหรือสิงคโปร์จะพบว่าเป็นคนละเรื่องกัน  เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่นำไปเทียบกับใครเราก็ไม่รู้  แต่ไปเทียบทั้งด้านความรู้ในเนื้อหาสาระ  ความรู้ภาษาอังกฤษ  ความรู้คณิตศาสตร์  ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์  รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดของเราด้อย  ถ้าเทียบกับกันเองอาจจะไม่เข้าใจ  แต่ถ้าไปเทียบกับครูสิงคโปร์จะพบว่า  เด็กของสิงคโปร์จะไม่ถูกตำหนิว่าโง่  เพราะเด็กก็เหมือนกับคนไข้  หมอก็มีหน้าที่รักษาให้เต็มที่  ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงก็ต้องรักษา  แต่นักเรียนที่เข้ามานั่งเรียนอยู่ในห้อง 40 -50 คน ถ้าคนไหนมันเกเร เรียนช้า ครูก็จะทิ้ง ละเลย ถูกทอดทิ้ง  ครูจะดูแลแต่คนที่ตั้งใจเรียนเท่านั้น  กลุ่มปานกลางขึ้นไปเท่านั้นที่ดูแล  แต่พวกกลุ่มข้างล่างหรือปานกลางลงมานี่  ครูสิงคโปร์จะไม่เป็นอย่างนั้น  เขาจะดูแลแต่ละบุคคลให้เก่ง  ครูทุกคนของสิงคโปร์จึงมีโปรแกรมสอนซ่อมเสริมเป็นเรื่องปกติที่ทำเป็นประจำ  แต่ของบ้านเราสอนแต่คนที่เก่งแล้ว  มีการติวพิเศษ  สอนพิเศษให้กับคนที่เก่งแล้วให้เก่งมากยิ่งขึ้นไปอีก  แต่คนที่สอบตกเรียนไม่ดีนั้นจะถูกละเลย  ทอดทิ้ง  หากเป็นสิงคโปร์ในระดับ ป.4 ป.5 ครูทุกคนจะมีข้อมูลว่า  เด็กชาย x เด็กชาย y หรือกระทั่งเด็กชาย z เด็กพวกนี้อ่อนอะไร เช่น อ่อนคณิตศาสตร์  อ่อนภาษาพอขึ้น ป.4 ป.5 พอสอนไปสัก 1-2 สัปดาห์ครูประจำชั้นหรือครูประจำวิชาจะรู้แล้วว่าอาทิตย์นี้มันจะช้านะ  ถ้าจะรอไปเป็นเดือนแล้วค่อยมาแก้ก็จะไม่ทันการณ์กันพอดี  พอสัปดาห์ที่  3  เอาเด็กอ่อนพวกนี้มาเรียนเลย  เพื่อจะให้ตามคนอื่นได้ทัน
o ประเทศฟินแลนด์  ถ้าเด็กคนไหนเรียนอ่อนจะให้ไปนั่งเรียนกับครูที่เก่งที่สุดของโรงเรียน   คือ เขาจะมีครูพิเศษ  (Special teacher)  ไว้คนหนึ่ง  ถ้าคนไหนเรียนช้าเรียนไม่ทันเขาจะต้องส่งไปหาอาจารย์อุ๊  อาจารย์ประกิตเผ่าในโรงเรียนนั้นๆ สมมติง่ายๆ ให้เข้าใจอย่างนี้  ซึ่งอาจารย์อุ๊ที่ว่านี้จะไม่ได้สอนประจำชั้น  คนไหนที่เรียนไม่รู้ไม่เข้าใจให้ไปหาอาจารย์อุ๊เลย คนไหนเรียนฟิสิกส์ไม่เข้าใจส่งไป  เขาจะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญคอยชี้แนะให้คำปรึกษาหารือ  ติววิชาเหล่านั้นที่เรียนอ่อนให้เข้าใจ  ในแต่ละโรงเรียนจะมีครูประเภทนี้อยู่เพื่อช่วยให้นักเรียนที่มีปัญหาเรียนให้ทันเพื่อน  พอเห็นว่าคนไหนเริ่มจะมีปัญหาเขาจะเอามาเรียน  แต่ประเทศไทยไม่เป็นอย่างนั้น  ครูไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น  ไม่มีความเก่งในการรีเชคนักเรียน  หาจุดอ่อนของนักเรียน  ครูเรายังไม่พอ  ซึ่งสิ่งนี้ถ้าจะทำให้เขามีพลังอำนาจเราก็จะต้องให้ความรู้  ให้การศึกษา  ให้สมรรถนะแก่พวกเขา 
o การให้อำนาจในบ้านเราระดับประถมอาจจะยังไม่ชัด  แต่ครูในระดับมัธยมปลายนี่จะเห็นชัดเลย  ครูมากกว่า  80  เปอร์เซ็นต์สอบไม่ผ่านวิชาฟิสิกส์  ฉะนั้นถ้าตัวเองรู้ว่ามีความรู้และสอบได้ไม่ถึง  80  เปอร์เซ็นต์แล้วจะมาสอนเด็กให้เก่งได้อย่างไร ทั้งที่จริงแล้วมันจะต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม 
o ความรู้ของครูในเนื้อหาวิชาจะต้องแม่น  แม้แต่ครูประถมวัย  หรือครูประถมซึ่งทุกคนจะต้องสอนทุกวิชาทั้งภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  วิทยาศาสตร์ ครูประถมพอไปสอนภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ตัวเองก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้  พูดก็ไม่ค่อยรู้  สอนก็ไม่ได้  ครูประถมมันต้องสอนหลายวิชา  ต้องสอนประจำชั้น  หลักสูตรทั้งหลายที่เราสอนนี่มันเรียนแยก  ไม่ได้เรียนเพื่อไปทำงาน ถ้าจะไปสอนประถมคุณต้องสามารถสอนได้ทุกวิชาทั้ง 8 กลุ่มสาระ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นจุดอ่อนของหลักสูตรของเรา เราต้องทำให้ครูมีความรู้ทั้งในเนื้อหาวิชา  ความรู้ในเรื่องการถ่ายทอด แล้วก็ต้องรู้ในเรื่องแหล่งเรียนรู้ รู้แหล่งอุปกรณ์ รู้แหล่งสื่อ สอนวิชาภาษาอังกฤษ ป.4 นี่มันมีอะไรบ้าง สื่ออิเล็กทรอนิกส์มีอะไรบ้าง สื่อตำรามีอะไรบ้าง สื่อที่เป็นแผ่นใสมีอะไรบ้าง สื่อที่เป็นเกมส์มีอะไรบ้าง  สื่อที่เป็นแหล่งเรียนรู้มีอะไรบ้างครูจะต้องรู้  และจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละเรื่องนั้นจะจัดอย่างไร  อันนี้คือสิ่งที่เราขาดไป  ขาดตั้งแต่ตอนผลิตครู  กระบวนการเรียนการสอนนักเรียนครู  มันผิดมาจากตรงโน้น 


-----------------------------------------------------

* ดร.ดิเรก  พรสีมา : ประธานคณะกรรมการคุรุสภา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  27  พฤศจิกายน  2553
ณ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  จังหวัดปทุมธานี

      สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com