วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานให้แก่ครูในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองของนักการศึกษา (1)

ดิเรก  พรสีมา*
อภิชาติ  ทองน้อย**

o  อันดับแรกเราจะต้องรู้ว่าพลังอำนาจของครูที่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร  พลังอำนาจของครูก็คือ การที่ครูสามารถกำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอนในแต่ละปี  แต่ละภาคเรียน  แต่ละเดือน  แต่ละสัปดาห์ได้ว่า  สิ้นปีการศึกษานี้เราสอนเด็กให้เด็กเป็นอย่างไร  มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร  คำว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรก็คือในแง่ความดีอยากให้เด็กเป็นอย่างไร  ในแง่ความเก่งอยากให้เด็กเป็นอย่างไร และในแง่ความสุขอยากให้เด็กเป็นอย่างไร 
o  มาตรฐานของชาติจะพูดถึงอยู่กลางๆ หรือพูดในเชิงนโยบายในลักษณะนามธรรมว่าอยากให้เป็นอย่างไร แต่โรงเรียนของเราในสภาพแวดล้อมอย่างนี้  บริบทอย่างนี้  ผลการทดสอบเมื่อปีที่แล้วเป็นอย่างนี้  ผลจากการสังเกตในแง่คุณธรรม ในแง่จริยธรรม ในแง่ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูรู้คุณหรืออะไรทั้งหลาย  จริยธรรมอะไรทั้งหลายเป็นอย่างนี้  ในแง่สุขภาพจิตเป็นอย่างนี้  ดังนั้น  คนที่มีพลังอำนาจจะสามารถกำหนดได้ว่า  สิ้นปีนี้จะได้ผลในแง่แต่ละเรื่องเป็นอย่างไร  เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่  ทีนี้พอรู้ว่าจะได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่  เขาจะต้องรู้ว่าจะต้องทำให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร  มีวิธีอย่างไร โดยส่วนหนึ่งหลักสูตรก็ให้กรอบให้แนวปฏิบัติไว้กว้างๆ หลักสูตรแกนกลางก็จะให้ไว้กว้างๆ ฉะนั้นเขาจะต้องรู้ว่าเขาจะใช้ตำราของใครเป็นตำราหลักในการจัดการเรียนการสอน ใช้สื่ออะไรเป็นสื่อหลักในการจัดการเรียนการสอนในแต่ละเรื่องแต่ละเนื้อหา  ใช้แหล่งเรียนรู้ที่ไหนบ้าง  และจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไร  เป้าหมายที่เขากำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นความดีหรืออะไร  ความดี  ความเก่ง  ความสุขก็ตามที่เขากำหนดไว้  มันถึงจะเกิด
o   นอกจากนั้นจะต้องรู้เขาจะมีวิธีวัด  วิธีประเมินอย่างไร  ถ้า Formative มาแล้วเห็นว่า  เด็กบางคนมันเรียนช้า  ต้องการความช่วยเหลือ  หรือว่า Formative เรื่องคุณธรรม จริยธรรม  มีนิสัยเกเร  ไม่สุภาพเรียบร้อย  ไม่กตัญญูรู้คุณ  จะทำอะไร  จะช่วยเด็กพิเศษเหล่านี้อย่างไร  จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการสอนของตนเองอย่างไรในแง่สื่อการสอน  วิธีการสอน  จะเปลี่ยนตำราเปลี่ยนอะไรอย่างไร  ครูที่มีพลังอำนาจจะคิดเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี  คิดและลงมือทำ
o   เขายังไม่ได้คิด  และยังไม่ได้ทำ  ทั้งๆ ที่กฎหมายหลายอย่างก็ให้อำนาจเขาไป  เพราะว่าให้บริหารแบบมีส่วนร่วม  ให้โรงเรียนทำ PDCA ในเรื่องวิชาการ  งบประมาณ  บุคคล  และเรื่องบริหารทั่วไปให้เขาทำเองเลย  เขาก็ไม่ได้ทำ  เขาไม่ทำ
o  ส่วนหนึ่งที่ครูไม่ทำก็เพราะว่า  รอผู้บริหารโรงเรียน  ส่วนหนึ่งก็ฟังเสียงผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมันมีวัฒนธรรมการทำงานครอบงำอยู่  แล้วก็มีกรอบงานครอบงำอยู่ คำว่ากรอบงานที่ว่านี้ก็คือเรื่องวิธีการ กฎเกณฑ์ กติกา วิทยฐานะ คือ บอกว่าทำสิ่งนี้ไปแล้วจะช่วยให้การทำวิทยฐานะผ่านหรือเปล่า จะทำให้ได้รับการเลื่อนวิทยฐานะหรือเปล่า นอกจากนั้นยังต้องโดนกรอบของการประเมินภายในและประเมินภายนอกครอบงำ แล้วก็มีกรอบจาก สพท. และกรอบจาก สพฐ. มีกติกา มีระเบียบปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ครอบงำอยู่ คือ มัวแต่พะวงและระแวงว่ามันมีกฎระเบียบครอบงำอยู่  แต่วิธีการที่จะทำให้ครูมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวครูนั่นเอง
-----------------------------------------------------

* ดร.ดิเรก  พรสีมา : ประธานคณะกรรมการคุรุสภา  (ผู้ให้สัมภาษณ์)
** อภิชาติ  ทองน้อย : อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักวิจัยอิสระ  (ผู้สัมภาษณ์)
บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่  27  พฤศจิกายน  2553
ณ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย  จังหวัดปทุมธานี

      สงวนลิขสิทธิ์ 
หากต้องการนำเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่ในเชิงวิชาการ 
กรุณาติดต่อขออนุญาตทางอีเมลนี้ : ashtonbkk@gmail.com